โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน

รายละเอียดโครงการ

     จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลายทางด้านทะเลอันดามันที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งการท่องเที่ยวกระแสหลักและการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากสภาพเป็นพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีผู้ให้บริการทางการท่องเที่ยวหลากหลาย การเดินทาง ที่พัก มีความสะดวกสบาย อย่างไรก็ตามการจัดการท่องเที่ยวที่ผ่านมามักจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์มากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้แบบลึกซึ้งและมีแนวโน้มที่จะทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง        

     มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้ใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism: CBT) เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยว จากต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชนอย่างหลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และการอนุรักษ์ ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ได้รับประโยชน์และร่วมแก้ไขปัญหาที่มาจากการท่องเที่ยว ดังนั้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ดี การท่องเที่ยวโดยชุมชนจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากมีตลาดรองรับผลิตผลการเกษตรในชุมชน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การจำหน่ายสินค้าผลิตผลการเกษตรที่ชุมชนเพาะปลูก การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เกิดการกระจายรายได้ โดยการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และสามารถขยายมาสู่การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งให้ชุมชนดำเนินชีวิตตามหลักการพึ่งพาตนเองได้ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว โดยชุมชนให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการท่องเที่ยวแบบลึกซึ้ง เพื่อให้คนในชุมชนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ และมีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน      

     ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน 3 เส้นทาง โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการ มีการบูรณาการกับการเรียนการสอนและงานวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถขยายฐานการท่องเที่ยวมาเป็นการท่องเที่ยวแบบลึกซึ้ง มีกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น และชุมชนได้ประโยชน์ทางด้านการพัฒนาการจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนต่อไป นอกจากนั้นนักศึกษาสามารถนำความรู้ภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง ทำให้เกิดการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานคุณวุฒิ และพัฒนาทักษะการทำงานในศตวรรษที่ 21 รวมถึงอาจารย์สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการบริการวิชาการ หรือนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริการวิชาการมาเป็นโจทย์วิจัย และพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบของการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบยั่งยืนในท้องถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามันต่อไป

ผลกระทบ

1. สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

2. มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน

3. นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงจากการบูรณาการการเรียนการสอนกับกิจกรรมในโครงการ

4. มีงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับความต้องการของชุมชนได้จริง

ผลลัพธ์

1. เกิดการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เอง

2. มีเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนเส้นทางใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่

3. ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ผลผลิต

1. ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ จำนวน 17 ชุมชน

2. มีการบูรณาการกับการเรียนการสอนจำนวน 11 รายวิชา และงานวิจัย 2 เรื่อง

3. ชุมชนมีนักเล่าเรื่องที่มีศักยภาพในการนำเที่ยวได้ จำนวน 14 คน

โครงการและกิจกรรมภายใต้โครงการ

No items found.