โครงการราชภัฏรักษ์สิ่งแวดล้อม

รายละเอียดโครงการ

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานพระราชปณิธานในพระราชบิดาที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจน ส่งผลให้เกิดแนวทางแห่งความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทรงทอดพระเนตรเห็นสาเหตุของทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงความเสื่อมโทรมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเกิดขึ้นจากคน จึงทรงมุ่งเน้นแก้ปัญหาให้ถึงแก่นแท้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ ในการสร้างคน สาเหตุทรัพยากรเสื่อมโทรมมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น มีการแย่งชิงทรัพยากร การขยายตัวของเมือง รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค                  

     จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการเติบโตของการท่องเที่ยว ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสื่อให้เห็นว่ามีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง และไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มีผลสำรวจระบุว่าประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยเป็นขยะตกค้างที่ไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องบริเวณพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยขยะแต่ละชนิดอาจใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลาหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี ขณะเดียวกันภัยเงียบจากขยะในท้องทะเล คือ ไมโครพลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยพลาสติกจะแตกย่อยเป็นปิโตรเคมีและจะเล็กลงเรื่อย ๆ จนมองไม่เห็นแต่ยังคงมีสารเคมีหลงเหลืออยู่ แพลงตอนจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป ปลาเล็กกินแพลงตอน ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก แล้วมนุษย์ก็จะกินปลาใหญ่อีกที ในท้ายที่สุดไมโครพลาสติกจึงเข้าไปสะสมในร่างกายของมนุษย์ ทำให้เกิดอันตรายได้                  

     ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องหาทางแก้ไข ให้ความรู้ และปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับกระบวนการลดปริมาณขยะ การคัดแยก โดยใช้หลักการ 7R ซึ่งประกอบด้วย

1) Rethink (คิดใหม่)                        

2) Reduce  (ลดการใช้)                

3) Reuse (ใช้ซ้ำ)  

4) Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่)                

5) Repair (ซ่อมแซม)                

6) Reject (ปฏิเสธ)

7) Return (ตอบแทน)          

     ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นการดำเนินงานร่วมกันทุกคณะเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ตำบลป่าตอง จังหวัดภูเก็ตให้มีสุขอนามัยที่ดีและมีทัศนียภาพที่งดงาม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน เกิดการใช้ประโยชน์และสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะ

ผลกระทบ

1. ชุมชนได้รับการพัฒนา คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

2. ยุวชนในจังหวัดภูเก็ตมีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง เป็นพลเมืองมีระเบียบวินัย

ผลลัพธ์

1. เกิดแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างเสริมจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น    

2. ปริมาณขยะในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนลดลง

3. ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะ

ผลผลิต

1. ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความรู้ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทักษะเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ ตลอดจนการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธี

2. เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตกับหน่วยงานภายนอกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการและกิจกรรมภายใต้โครงการ

No items found.